วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

การเลี้ยงปลาทอง



การเพาะเลี้ยงปลาทอง

        การเพาะเลี้ยงปลาทองให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องมีการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาให้มีไข่และน้ำเชื้อ
สมบูรณ์     จัดเตรียมบ่อและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง มีขั้นตอนในการผสมพันธุ์
การฟักไข่และอนุบาลลูกปลา ฯลฯ ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
การคัดเลือกสถานที่เพื่อเลี้ยงปลาทอง
       การเลี้ยงปลาทองจะต้องหาทำเลที่เหมาะสม โดยยึดหลักเกณฑ์ดังนี้
+ ไม่เป็นที่อับแสงแดด หรือมีแสงแดดมากเกินไป เพราะถ้าเป็นที่อับอากาศ หรืออับแสงจะทำให้ปลา
สีซีดไม่แข็งแรง และหากแสงมากเกินไป จะมีผลในการดูแลความสะอาดเพราะน้ำเขียวเร็ว เนื่องจาก
แสงแดดทำให้ตะไคร่น้ำเติบโตเร็ว หากบ่ออยู่ในที่โล่งแจ้งควรใช้ตาข่ายกรองแสงประมาณ 60%
+ ไม่ควรอยู่ใกล้แหล่งสารเคมีที่มีพิษ
       โดยเฉพาะถ้าใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไหลผ่านโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปนเปื้อนสารพิษคุณภาพ
น้ำที่ใช้เลี้ยงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากในรอบปี สำหรับหน้าแล้งอาจเกิดสภาวะขาดน้ำ หรือน้ำเสียจาก
โรงงานเป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์น้ำได้
+ ไม่เป็นที่มีเสียงอึกทึกครึกโครมหรือเสียงรบกวน ทำให้ปลาตกใจเป็นประจำ     จะส่งผลถึงการกิน
อาหารของปลา และการเคลื่อนไหวร่างกายอาจผิดปกติได้
+ บ่อไม่ควรอยู่ตรงชายคาที่มีน้ำตกพอดี เพราะน้ำฝนที่มี่คุณสมบัติเป็นกรดจะทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงปลา
มีคุณสมบัติเปลี่ยนไป มีผลให้ปลาอ่อนแอติดโรคได้ง่าย
+ ไม่เป็นที่ที่มีศัตรูของปลาหรือมีใบไม้ร่วง เป็นสาเหตุให้น้ำเน่าหากมีศัตรูปลา เช่น นกหรือแมว ควร
จะหาวัสดุป้องกัน เช่น ตาข่ายกั้นรอบบริเวณที่เพาะเลี้ยง
+ ควรเป็นสถานที่ที่มีที่กำบังลมและแสงแดด เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระทันหัน โดยเฉพาะ
ในฤดูหนาว
+ ควรสร้างบ่อให้มีความลาดเอียง เพื่อให้สะดวกต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยสามารถระบายน้ำได้หมด
ทั้งยังสะดวกในการทำความสะอาด ตากบ่อ และการกำจัดเชื้อโรค
+ สร้างระบบน้ำ โดยมีท่อน้ำเข้า ท่อระบายน้ำออก ระบบเพิ่มอากาศที่มีประสิทธิภาพและมีอุปกรณ์สำรอง
เพื่อป้องกันภาวะฉุกเฉินกรณีไฟฟ้าดับ
+ ควรกำจัดพาหะที่อาจนำโรคมาสู่ปลา พาหะที่สามารถมองเห็นได้จากบริเวณสถานที่เลี้ยง เช่น คางคก
หรือลูกหอยตัวเล็ก ๆ 

การเตรียมปลาเพื่อการเพาะพันธุ์
 
      การเพาะพันธุ์ปลาทองเพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีคุณภาพและปริมาณมากจำเป็นต้องมีการคัดเลือกพ่อแม่
พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ซึ่งมีเทคนิคในการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ปลา ดังนี้
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์    การเลี้ยงปลาทองจะประสบผลสำเร็จต่อเมื่อคุณภาพของลูกปลามีลักษณะ
ตรงตามที่ตลาดต้องการ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญมากในการเพาะเลี้ยงปลาทอง
เพราะลูกปลาจะมีคุณภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะที่พ่อแม่พันธุ์ถ่ายทอดมายังลูกหลานซึ่งมีหลักเกณฑ์
ในการพิจารณาคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ดังนี้
+ ไม่ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ครอกเดียวกันมาทำการผสมพันธุ์ เพราะอาจได้ลุกปลาที่มีลักษณะด้อย โตช้า
อ่อนแอหรือมีความผิดปกติ เนื่องจากการผสมปลาในครอกเดียวกัน เป็นการผสมเลือดชิด (Inbreeding)
+ ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ยังมีอายุไม่มากนัก (อายุไม่เกิน 2 ปี) เพราะปลารุ่นมีความปราดเปรียว วางไข่
ได้ครั้งละมาก ๆ น้ำเชื้อมีความแข็งแรงสมบูรณ์ พ่อแม่พันธุ์ต้องอยู่ในสภาพพร้อมผสมพันธุ์ได้จริง
+ เลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะดี ไม่พิการ มีสีสันเข้ม เด่นชัด มีความแข็งแรงปราดเปรียว และมีขนาด
ใหญ่ปานกลางเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเติบโตเร็ว
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลา หลังจากที่มีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์แล้ว การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ก็นับเป็นสิ่ง
สำคัญในการเพาะพันธุ์ปลา หากพ่อแม่พันธุ์มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่แล้ว จะสามารถเพาะพันธุ์
ได้โดยง่าย ปลาจะผสมพันธุ์และวางไข่ได้เอง ตามธรรมชาติ ปลาทองที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ควร
มีอายุประมาณ 5-6 เดือนขึ้นไป ถ้าอายุน้อยจะทำให้ลูกปลาที่ได้พิการเป็นส่วนมาก การเลี้ยงปลาทอง
เพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์ บ่อดิน ตู้กระจก อ่างปลา ฯลฯ ที่มีระดับความ
ลึกพอประมาณ (20-40 เซนติเมตร) ถ้าพ่อแม่พันธุ์ปลามีขนาด 3-4 นิ้ว ปล่อยตารางเมตรละ 4-6 ตัว
ยกเว้นพ่อแม่ปลาทองบางพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ จำเป็นต้องเลี้ยงในบ่อที่ใหญ่ขึ้นด้วย กรณีที่ม
ีการเลี้ยงในบ่อที่มีการแยกของเสียและตะกอนออกไปตลอดเวลา ความหนาแน่นอาจเพิ่มเป็น 10 - 20
ตัว (ขนาด 3-4 นิ้ว) / 1 ตารางเมตร
         ทำเลที่เหมาะสมในการสร้างบ่อพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง คือ บริเวณที่แสงแดดส่องได้บ้างในเวลา
เช้าหรือเย็น หากเป็นที่โล่งแจ้งต้องทำหลังคาหรือร่มเงาให้ส่องแสงลงได้เพียง 40-60%
บ่อที่ได้รับแสงแดดที่พอเหมาะจะสามารถควบคุมการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำและแพลงก์ตอนพืช
(Phytoplankton) ให้อยู่ในปริมาณที่พอดีทำให้น้ำในบ่อใสสะอาดอยู่เสมอ เหมาะกับความเป็นอยู่
ของปลาและจะช่วยให้ปลามีสีสันสวยขึ้นด้วย ในทางตรงข้ามหากแสงสว่างส่องมากเกินไป จะทำให้
ตะไคร่น้ำและแพลงก์ตอนพืช เจริญเร็วมากเกินต้องการ น้ำจะเขียวจัดและเป็นเหตุให้ออกซิเจนที่ละลาย
อยู่ในน้ำเปลี่ยนแปลงเร็วมากในรอบวัน ซึ่งเป็นอุปสรรค ต่อความสมบูรณ์ทางเพศของปลา นอกจากนี้
แสงแดดจะทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปด้วย หากเลี้ยงปลาทองไว้ในบ้านแสงสว่างจาก
หลอดไฟฟ้า ที่ส่องลงในตู้โดยตรง สามารถใช้ทดแทนแสงแดดได้เช่นกัน แต่ความสมบูรณ์ทางเพศ
ของปลาจะไม่ดีเท่ากับเลี้ยงไว้นอกบ้าน เนื่องจากปลาเลี้ยงในตู้จะตื่นตกใจง่ายทำให้การพัฒนาของไข่
ชะงักไป บ่อหรือภาชนะที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่ปลาทองจำเป็นต้องมีวัสดุคลุมเพื่อป้องกันศัตรูปลา เช่น แมว
งู นก เป็นต้น ทั้งนี้เพราะปลาทองเป็นปลาที่ว่ายน้ำเชื่องช้า และชอบกินอาหารบริเวณผิวน้ำ เป็นการ
เปิดโอกาสให้ศัตรูทำร้ายได้ง่าย (วัสดุคลุมปิดควรมีความโปร่งแสงเพื่อให้แสงแดดส่องถึงและอากาศ
ถ่ายเทได้ ปกตินิยมทำด้วยตาข่ายพลาสติกกรองแสง)
     น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาทอง ควรเป็นน้ำที่สะอาด มีความเป็นกรด - ด่าง (pH) 6.8-7.5 มีปริมาณออกซิเจน
ละลายในน้ำไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/ลิตร จึงจำเป็นต้องมีระบบเพิ่มออกซิเจนในบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ตลอด
เวลา ความกระด้าง (Hardness) 75-100 มิลลิกรัม/ลิตร และความเป็นด่าง (Alkalinity)150 - 200
มิลลิกรัม/ลิตร
     ระดับความลึกของน้ำที่เหมาะสมคือ 30-40 เซนติเมตร การเลี้ยงปลาทองในบ่อที่มีระดับน้ำสูงเกิน
ไปมักจะทำให้ปลาทองเสียการทรงตัวได้ง่าย โดยเฉพาะสายพันธุ์หัวสิงห์ ต้องมีการถ่ายเทน้ำบ่อยหรือ
ทุก ๆ วัน โดยดูดน้ำเก่าทิ้งไป 25% ของน้ำทั้งหมดแล้ว เติมน้ำใหม่ลงไปให้มีปริมาณเท่าเดิม ควรแยก
เลี้ยงปลาที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ไว้คนละบ่อ เพื่อให้ปลามีความสมบูรณ์แข็งแรงจริง ๆ
      ในช่วงที่ปลากำลังฟิตตัวเพื่อเตรียมผสมพันธุ์ไม่ควรให้อาหารมากเกินไปจะทำให้ปลาอ้วน และไม่
ควรเลี้ยงพ่อแม่ปลาทองจำนวนมาก ๆ ในบ่อเดียวกัน เนื่องจากปลาทองเกือบทุกพันธุ์เป็นปลาที่ค่อนข้าง
อ่อนแอ มีลักษณะลำตัว หัวและครีบบอบบางอาจฉีกขาดหรือเป็นแผลและเสียการทรงตัวได้ง่าย อีกทั้ง
ปลาทองเป็นปลาที่กินอาหารมากและรวดเร็ว หากเลี้ยงปลารวมกันเป็นจำนวนมากตัวที่กินอาหารช้ากว่า
จะแย่งอาหารไม่ทัน ทำให้มีการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ทางเพศช้า ไม่สามารถเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้
ตามกำหนด และไม่ควรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทองหลายสายพันธุ์ในบ่อเดียวกัน นอกจากอุปนิสัยที่แตกต่าง
กันจะทำให้เป็นอุปสรรคของความสมบูรณ์เพศแล้ว อาจเกิดการผสมข้ามพันธุ์โดยบังเอิญทำให้ได้ลูก
ปลาที่มีลักษณะที่ตลาดไม่ต้องการ
      ตามปกติพ่อแม่พันธุ์ปลาทองสามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้เกือบตลอดปี ยกเว้นในช่วงอุณหภูมิลดต่ำ
กว่าปกติอย่างมาก ซึ่งในระยะนี้ปลาจะกินอาหารน้อยลงทำให้ความสมบูรณ์ทางเพศลดลงและชะงัก
การผสมพันธุ์ หากสามารถควบคุมอุณหภูมิของน้ำได้โดยการใช้เครื่องเพิ่มอุณหภูมิในน้ำ (Heater)
โดยให้น้ำมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสตลอดเวลา พ่อแม่พันธุ์ปลาทองก็จะสามารถวางไข่ได้
ตลอดทั้งปี สำหรับแม่ปลาตัวหนึ่ง ๆ นั้นจะสามารถวางไข่ได้ทุกระยะประมาณ 2-4 สัปดาห์/ครั้ง
การคัดเพศปลาทอง การสังเกตเพศปลานับเป็นสิ่งสำคัญในการเพาะพันธุ์ปลาทอง    โดยปกติความ
แตกต่างระหว่างเพศของปลาทองจะเริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อปลามีอายุประมาณ 2-4 เดือนขึ้นไปโดยจะ
สามารถสังเกตเห็นได้จากลักษณะภายนอก ซึ่งปลาทองตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่าง
เห็นได้ชัด ดังตารางและ ภาพที่ 38-40


ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเพศ
ลักษณะที่ใช้เปรียบเทียบ
เพศเมีย
เพศผู้
1. รูปร่าง (Body shape) - ลำตัวค่อนข้างอ้วนและป้อมกว่าตัวผู้ - ลำตัวค่อนข้างยาวกว่าเพศเมีย
2. ผนังส่วนท้อง (Abdominal wall) - กลม และมีความอ่อนนุ่ม - แบนและแข็ง
3. รูทวาร (Anal pore)


- รูทวารมีลักษณะค่อนข้างกลม


- เป็นรูปวงรีชั้นเดียว เมื่อใช้มือรีด
ที่ท้องเบา ๆ น้ำเชื้อสีขาวขุ่นจะไหลออกมา
4. ครีบอก (Anal pore) - เรียบ - จะมีตุ่มสีขาวขุ่น ๆ ปรากฏให้เห็น
โดยเฉพาะที่เส้นก้านครีบแข็ง
5. กระพุ้งแก้ม (Operculum) - ลื่นและเรียบ - บริเวณกระพุ้งแก้มจะมีตุ่ม
สีขาวขุ่นบนกระพุ้งแก้ม

การเพาะพันธุ์ปลาทอง
      ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่ปลาทองจะผสมพันธุ์วางไข่ก่อนหรือหลังระยะดังกล่าวก็อาจเพาะพันธุ์
ได้บ้างแต่เป็นส่วนน้อยปลาทองจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 4-6 เดือน แต่ช่วงที่เหมาะสมคืออาย
ุ 7-8 เดือน และจะวางไข่ไปเรื่อย ๆ จนอายุ 6-7 ปี แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อนปลาสามารถ
วางไข่ได้เป็นระยะเวลาหลายเดือนใน 1 ปี จึงทำให้อายุใช้งานของพ่อแม่พันธุ์น้อยลงคือประมาณ 2 ปี
ผู้เลี้ยงก็จะต้องหาพ่อแม่พันธุ์ใหม่
       การเพาะพันธุ์ปลาทองอาจเพาะพันธุ์ได้ในตู้กระจก บ่อซีเมนต์กลมขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่
80 เซนติเมตร หรือใช้บ่อสี่เหลี่ยมขนาด 1 ตารางเมตรขึ้นไป หลังจากทำความสะอาดบ่อหรือภาชนะ
เรียบร้อยแล้วให้เติมน้ำสะอาดที่ปราศจากคลอรีน (อุณหภูมิของน้ำควรอยู่ในช่วง 25 - 28 องศาเซลเซียส)
ให้ระดับน้ำสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร และควรใส่สาหร่ายหรือผักตบชวาโดยนำมาแช่ด่างทับทิม
ก่อนหรือใช้เชือกฟาง นำเชือกฟางมามัดแล้วฉีกเป็นเส้นฝอยใส่ลงในบ่อเพื่อให้ไข่เกาะ เพราะไข่ของปลา
ทองเป็นประเภทไข่ติด หรืออาจจะเพาะในกะละมัง ซึ่งวิธีนี้ไม่ต้องใส่เชือกฟางให้ไข่เกาะ เพราะไข่จะ
เกาะติดกับกะละมังที่ใช้เพาะฟัก
การเพาะพันธุ์ปลาทองสามารถเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ หรือโดยวิธีผสมเทียม ดังนี้

การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ เป็นวิธีการเพาะพันธุ์ปลาทองแบบง่ายและประหยัด บ่อหรือ
ภาชนะที่มีขนาดประมาณ 1 ตารางเมตร เป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุดและควรปล่อยพ่อแม่ปลาเพียง 4-6
ตัว/บ่อ โดยนำพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์ที่คัดไว้เรียบร้อยแล้วมาใส่ในบ่อเพาะ ในอัตรา
ส่วนตัวผู้ : ตัวเมีย เท่ากับ 1 : 1 หรือ 2 : 1 ขึ้นกับปริมาณน้ำเชื้อของตัวผู้และความสมบูรณ์เพศของแม่พันธุ์
ปลาตัวผู้จะเริ่มไล่ปลาตัวเมียโดยใช้ปากดุนที่ท้องปลาตัวเมียเพื่อกระตุ้นให้วางไข่ ตัวเมียปล่อยไข่เป็นระยะ ๆ
ขณะเดียวกันตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ ไข่ก็จะกระจายติดกับสาหร่าย ผักตบชวาหรือเชือกฟางที่อยู่
ไว้ในบ่อ
       เนื่องจากไข่มีลักษณะเป็นเมือกเหนียวช่วยในการยึดเกาะได้ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ อาจใช้เวลาถึง
3ชั่วโมง ปลาจึงวางไข่หมด แม่ปลาวางไข่ครั้งละ 500-5000 ฟอง โดยปริมาณไข่จะขึ้นกับขนาดของแม่
ปลา ปลาตัวเล็กปริมาณไข่ก็จะน้อย ภายหลังจากที่ปลาผสมพันธุ์กันแล้ว จะสังเกตเห็นน้ำในบ่อเพาะพันธุ์มี
ลักษณะเป็นฟองคล้ายมีเมือกผสมอยู่ในน้ำหรือสามารถตรวจสอบอย่างง่าย ๆก็คือ หลังจากที่ใส่รังเทียม
ในตอนเย็นจะสามารถตรวจสอบการวางไข่ในตอนเช้า หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้ว ควรแยกพ่อแม่ออกไป
เลี้ยงในบ่ออื่น หรือจะเก็บรังเทียมไปฟักในบ่ออื่นก็ได้ แต่วิธีนี้ไข่อาจติดอยู่บริเวณขอบหรือพื้นก้นบ่อยากแก่
การรวบรวม โดยปกติแม่ปลาทองจะวางไข่มากในช่วงเดือน เมษายน - ตุลาคม
        หลังจากปลาผสมพันธุ์แล้ว พ่อแม่ปลาจะไม่สนใจกับไข่ปลา และบางครั้งอาจกินไข่ด้วย ดังนั้นจึงจำเป็น
ต้องแยกพ่อแม่ปลาออกทันที
การเพาะพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม
       การเพาะพันธุ์โดยวิธีผสมเทียมจะทำให้อัตราการผสมไข่และน้ำเชื้อสูงมากมีอัตราการฟักไข่สูงกว่าการ
เพาะพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติแต่ขั้นตอนจะยุ่งยากกว่าหลังจากที่เตรียมอ่างเพาะหรือบ่อเพาะปลาแล้วให้ตรวจ
ความพร้อมของแม่ปลา สำหรับแม่ปลาจะต้องมีท้องนิ่มพร้อมที่จะวางไข่การผสมพันธุ์โดยวิธีนี้ควรทำตอน
เช้ามืดใกล้สว่าง ซึ่งเป็นเวลาที่ปลาชอบผสมพันธุ์กันเอง โดยใช้ปลาตัวผู้ : ปลาตัวเมียในอัตราส่วน 1 : 1 หรือ
2 : 1 ตัว เพื่อให้น้ำเชื้อของปลาตัวผู้มีปริมาณเพียงพอกับจำนวนไข่ของปลาตัวเมีย รีดไข่จากแม่ปลาลงใน
กะละมังที่มีน้ำสะอาด แล้วรีดน้ำเชื้อจากปลาตัวผู้ 1-2 ตัวลงผสมพร้อม ๆ กันขั้นตอนการรีดต้องทำอย่าง
รวดเร็วและนุ่มนวล เพราะปลาอาจเกิดบอบช้ำหรือถึงตายได้ถ้าปลาอยู่ในมือนาน จากนั้นคลุกเคล้าไข่กับน้ำ
เชื้อให้เข้ากัน เพื่อให้น้ำเชื้อของปลาตัวผู้ไปผสมกับไข่ของปลาตัวเมียได้อย่างทั่วถึง แล้วล้างไข่ด้วยน้ำสะอาด
1-2 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้อัตราการฟักเป็นตัวของไข่ปลามีมากกว่าการปล่อยให้ปลาผสมพันธุ์กันเองตามวิธี
ธรรมชาติ เมื่อไข่ถูกน้ำจะดูดซึมน้ำเข้าภายในเซลล์ (Cell) และมีสารเหนียว ๆ ทำให้ไข่ติดกับกะละมัง ถ้าแม่
ปลา 1 ตัวที่มีปริมาณไข่มาก สามารถรีดไข่ได้ 2-3 กะละมัง (กะละมังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว) ไข่ที่
ได้รับการผสมน้ำเชื้อจะมีลักษณะใสวาว ๆ สีเหลือง ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสม มีสีขาวขุ่น
       นำกะลังมังที่มีไข่ปลาติดอยู่ ไปใส่ในบ่อฟักที่มีระดับน้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร โดยวางกะละมังให้
จมน้ำ ให้ออกซิเจนเบา ๆ เป็นจุด ๆ ตลอดเวลา อุณหภูมิของน้ำภายในอ่างฟักไข่อยู่ในช่วง 27 - 28 องศาเซลเซียส

การควบคุมอุณหภูมิน้ำในช่วงที่ไข่ฟักตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากในช่วงที่ไข่ปลากำลังฟักตัวจะมีภูมิต้าน
ทานน้อยมาก ถ้าหากอุณหภูมิของน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงมากอาจทำให้ไข่ปลาเสียได้ ในช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิ
ลดลงมากอาจใช้ฮีทเตอร์ เพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิน้ำ

การฟักไข่
      ไข่ที่ติดกับสาหร่ายหรือเชือกฟางจะมีสีเหลืองใส ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักเป็นตัวภายใน 2-3 วัน
ขึ้นกับอุณหภูมิน้ำ ส่วนไข่ปลาที่ไม่ได้รับการผสมน้ำเชื้อจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น ไข่ที่เริ่มฟักเป็นตัว
จะมีจุดดำ (Eye spot) ปรากฏขึ้น จากนั้นส่วนหางก็จะค่อย ๆ เจริญขึ้นมาจนสามารถมองเห็นการ
เคลื่อนไหวได้ ลูกปลาแรกฟักมีขนาดเล็กตัวใสเกาะติดกับรังไข่ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วประมาณ 2-3 วัน
ลูกปลาจึงจะว่ายออกจากรังไข่และว่ายน้ำเป็นอิสระลูกปลาที่เกิดใหม่จะมีสีน้ำตาลคล้ำหรือสีดำ (ภาพที่ 42)
หลังจากนั้นสีทองจะเริ่มพัฒนาขึ้น ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป การอนุบาลลูกปลาจะอนุบาลในบ่อเดิมหรือ
นำมาขยายบ่อเพื่ออนุบาลต่อไปก็ได้ ขณะที่ทำการดูดเปลี่ยนถ่ายน้ำ ควรใช้กระชอนตาถี่หรือผ้าบาง ๆ
มารองรับกันลูกปลาไหลไปตามน้ำ
การอนุบาลลูกปลา
       บ่อที่ใช้อนุบาลลูกปลาไม่ควรเป็นบ่อขนาดใหญ่มาก เพราะจะทำให้การดูแลและการจัดการลำบาก
โดยทั่วไปการอนุบาลลูกปลาอาจใช้บ่อกลม ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร หรืออาจจะ
ใช้บ่อสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1 ตารางเมตรก็ได้
       ในช่วงที่ลูกปลาฟักตัวออกมาระยะ 2-3 วันแรก ยังไม่จำเป็นต้องให้อาหาร เนื่องจากลูกปลามีถุง
อาหาร (Yolk sac) อยู่ซึ่งลูกปลาจะดูดซึมอาหารจากถุงอาหารนี้ หลังจาก 3 วันแล้วจึงเริ่มให้อาหาร
โดยให้ลูกไรแดงขนาดเล็กที่ผ่านการกรองด้วยตาข่ายหรือจะใช้ไข่แดงต้มสุกละลายน้ำแล้วหยดให้ปลา
กิน วันละ 3-4 ครั้ง ให้ประมาณ 2-3 วัน การให้ไข่แดงต้องระมัดระวังปริมาณการให้เพราะไข่จะทำ
ให้น้ำเสียเร็วควรให้แต่น้อย ๆรอให้ปลากินหมดแล้วจึงให้เพิ่ม   และถ้าปลากินเหลือควรดูดเศษอาหาร
ออกโดยใช้สายยางขนาดเล็กดูดออกในกรณีที่ต้องใช้น้ำประปาที่มีต้นทุนสูงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำแต่น้อย ๆ
และบ่อยครั้งขึ้น เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของน้ำทำให้ลูกปลาตายได้ และใช้กระชอนตาถี่ ๆ
มาวางไว้เพื่อรองรับน้ำที่ถูกดูดออกมาจากบ่อเลี้ยงปลาเพราะอาจจะมีลูกปลาถูกดูดติดออกมาได้ อัตรา
การเปลี่ยนถ่ายน้ำในแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 20-25% ของปริมาณน้ำในบ่อ
       บางฟาร์มที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีต้นทุนต่ำอาจเปลี่ยนถ่ายน้ำตลอดเวลา    โดยใช้ระบบ
น้ำหมุนเวียน หลังจากที่ให้ไข่แดงหรือลูกไรแดงแล้ว 3 วัน ควรเปลี่ยนเป็นไรแดงขนาดใหญ่ขึ้น ลูกปลา
มีอายุ 15 วันจึงเริ่มให้อาหารสำเร็จรูป และอาหารสดที่มีขนาดใหญ่เสริม เช่น ลูกน้ำ ไส้เดือนน้ำ    ควร
ให้วันละ 3-4 ครั้ง เมื่ออนุบาลลูกปลาจนกระทั่งมีอายุ 2 สัปดาห์ควรคัดปลาที่พิการออกไปเป็นปลาเหยื่อ
และเลือกปลาที่มีลักษณะที่ดีไว้ โดยพิจารณาจากลักษณะรูปทรงของลำตัว และครีบต่าง ๆ   โดยเฉพาะ
ครีบหางและควรมีการคัดขนาดด้วย    เพราะลูกปลาที่มีขนาดเล็กจะแย่งอาหารไม่ทันลูกปลาที่มีขนาด
ใหญ่กว่าจึงควรคัดออกเพื่อนำมาแยกเลี้ยง
         สำหรับการอนุบาลลูกปลาขนาดเล็กไม่ควรนำไปเลี้ยงในน้ำที่มีระดับความลึกมาก เพราะจะทำให้
ปลามีรูปร่างไม่สวยงาม และไม่เลี้ยงหนาแน่นเกินไป ควรเลี้ยงในอัตราส่วน 100 - 250 ตัว/ตารางเมตร
หลังจากที่อนุบาลลูกปลาประมาณ 1 เดือน ลูกปลาจะมีขนาด 2-3 เซนติเมตร อาจให้หนอนแดง ไส้เดือนน้ำ
หรือหนอนขี้หมูขาวด้วยก็ได้แต่ต้องนำมาต้มก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อของปลาหรือจะให้อาหารสำเร็จรูป
เป็นอาหารปลาดุกเล็ก หรืออาหารผสมระหว่างอาหารปลาดุเล็กกับไข่ตุ๋นก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น