วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การเลี้ยงปลากัดให้กัดเก่ง(2)

เมื่อปลาโตหรืออายุได้ 7-8 เดือน จะนำปลาขึ้นจากบ่อซีเมนต์ สักประมาณ 6-7 ตัว มาเลี้ยงในขวดโหลหมักใบตองแห้ง โดยใช้ใบตองของกล้วยน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้เกล็ดของปลาแข็งมากขึ้น ซึ่งเขาจะหมักปลาไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นนำมาเลี้ยงไว้ในขวดโหลอีกใบหนึ่ง โดยเลี้ยงน้ำสะอาด และไม่ต้องใส่วัชพืชลงไป ยกเว้นช่วงกลางคืนเขาจะหาต้นอะเมซอน หรือพรรณไม้น้ำขนาดเล็ก ๆ ใส่ลงในขวด เพื่อให้ปลากัดได้นอนพัก
"หลังจากเราหมักปลาได้ 7 วันแล้ว และจะเลี้ยงต่อไปอีกสัก 7-8 วัน ก่อนนำไปกัดเพื่อการแข่งขัน ซึ่งทุก ๆ วัน ช่วงเช้า นำปลาจากขวดโหล มาใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ เราเรียกว่า โหลพาน ภายในถุงจะมีปลาตัวเมีย 1 ตัว เมื่อเราปล่อยปลาลงไป ปลาตัวเมียจะไล่ปลาตัวผู้ ทำให้ปลาได้ออกกำลังกาย โดยปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นนำมาใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่อีกใบหนึ่ง มีปลาตัวเมียอาศัยอยู่ 5 ตัว ซึ่งเราเรียกกันว่า โหลไล่ ปลาตัวผู้ก็จะเป็นฝ่ายไล่กัดปลาตัวเมียทั้ง 5 ตัว เพราะปกป้องตัวเอง เข้าใจว่า หากไม่ไล่กัด ปลาตัวเมียก็รุมกัด จำเป็นต้องต่อสู้ และไล่กัดตัวเมียทุกตัว ผมจะปล่อยทิ้งสัก 20 นาที ก็ช้อนหรือจับขึ้นมาเลี้ยงไว้ในขวดโหลใบเดิม และในช่วงเย็นจะหาลูกน้ำมาให้ปลากินเป็นอาหารวันละ 7 ตัว"
ก่อนนำไปแข่งขันเราจะพักปลาไว้ 1 วัน โดยไม่ให้อาหารและหยุดกิจกรรมออกกำลังกาย ยกเว้นให้ตัวเมียไล่หรือใส่ในโหลพาน 10 นาที เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ปลาขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
"วิธีเลี้ยงปลากัด และวิธีการผสมพันธุ์ปลากัด พ่อตาสอนให้ผมทั้งนั้น และเมื่อนำปลาไปกัดเพื่อแข่งขันกัน ส่วนใหญ่ปลาของผมจะชนะคู่ต่อสู้ เมื่อปลาเราชนะ นักเลงปลากัดก็เข้ามาขอซื้อถึงบ้านเลย" คุณกิมไล้ ไม่ชอบกัดปลา เหตุที่เข้าบ่อนกัดปลา ก็เพื่อให้คนในวงการปลากัดได้รับทราบว่า มีปลาเก่ง ซึ่งส่งผลดีด้านการตลาดในเวลาต่อมา
เตรียมปลาก่อนเข้าแข่งขันหลัง จากเขาคัดเลือกปลากัดได้ตามที่ต้องการแล้ว ก็นำปลามาหมักน้ำใบหูกวาง โดยใช้ระยะเวลาหมักประมาณ 7 วัน แต่ถ้าเป็นปลาที่รูปร่างอ้วนต้องใช้เวลา 15 วัน หรือหมักจนกว่าเกล็ดของปลาเรียบและแววมัน
เขาบอกว่า ใบหูกวางที่นำมาใช้นั้นต้องตากแดดให้แห้งสนิท แล้วนำมาแช่น้ำ จากนั้นนำน้ำดังกล่าวมาเลี้ยงปลา ซึ่งทำให้หนังของปลาแข็งและเหนียว
ในช่วงหมักนี้เขาจะให้ปลากินลูกน้ำวันละ 2-3 วัน แต่ถ้าเป็นปลาที่มีรูปร่างอ้วนให้กินอาหาร 3 วัน ต่อครั้ง เพราะว่าให้อาหารมาก ปลาจะอ้วน เมื่อนำไปแข่งขันเสียเปรียบคู่ต่อสู้ได้
"หลังจากหมักปลาจนเกล็ดหรือรูปร่างดีแล้ว ก็นำมาเลี้ยงไว้ในขวดโหลอีก พร้อมกับใส่น้ำหมักใบหูกวางลงไปผสมเล็กน้อย หรือให้สีน้ำออกเหลืองนิด ๆ พร้อมกับใส่ปลาตัวเมียลงไปด้วย เพื่อต้องการให้ปลากัดตัวผู้คึก เมื่อเห็นว่าจะกัดปลาตัวเมีย ก็ให้ช้อนปลาตัวเมียขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที ก็ช้อนขึ้นแล้ว"
เขาจะปล่อยปลาตัวเมียลงไปให้ปลาตัวผู้ไล่วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ดำ เล่าว่า ช่วงเช้าหลังจากจับปลาตัวเมียขึ้นแล้ว จะนำปลาตัวผู้ไปปล่อยถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือถุงไล่ โดยปล่อยปลาตัวเมีย 4-5 ตัว ลงไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ปลากัดตัวผู้ไล่กัด ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ได้ผลดี
เขาปล่อยให้ปลาตัวผู้ออกกำลังกาย ประมาณ 10 นาที จากนั้นช้อนปลาขึ้นมาเลี้ยงไว้ในขวดโหลเหมือนเดิม โดยใช้ผ้าหรือกระดาษคลุมขวดอย่างมิดชิด ทั้งนี้เพื่อให้ปลาพักผ่อนอย่างเต็มที่ และป้องกันไม่ให้แมลงหรือมดมาเกาะที่บริเวณขวด ไม่เช่นนั้นปากของปลาบาดเจ็บได้ ด้วยการว่ายน้ำชนขวด เพื่องับเหยื่อ
ช่วงเย็นหลังจากปล่อยปลาตัวเมียและช้อนขึ้นแล้ว ก็ให้อาหารปลา โดยใส่ลูกน้ำลงในขวดประมาณ 7-10 ตัว
เขาจะเลี้ยงปลาในลักษณะดังกล่าว ประมาณ 7 วัน
"เราเลี้ยง 7 วัน โดยให้ออกกำลังกายทุกวัน ให้อาหารกินพอประมาณ และพักผ่อนเต็มที่ ปลาก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมแข่งขัน"
"อย่างไรก็ตาม ก่อนนำปลาไปกัด ต้องพักผ่อนให้เต็มที่ ประมาณ 2-3 วัน โดยหยุดกิจกรรมออกกำลังกายและอื่น ๆ ออกไป ยกเว้นอาหารยังจำเป็นต้องให้กิน แต่ต้องควบคุมปริมาณคือ หลังจากหยุดออกกำลังเย็นวันแรกให้กินลูกน้ำเต็มที่หรือประมาณ 10 ตัว เย็นวันที่สอง ลดลงเหลือประมาณ 5-6 ตัว เช้าวันที่สาม นำไปแข่งขันได้เลย" ดำ กล่าว
เขาบอกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนนำปลาไปประลองหรือแข่งขันเราจะปล่อยปลาตัวเมียลงไปเพื่อให้ปลาตัวผู้ไล่ ประมาณ 1-2 นาที เพื่อออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ปลาขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
"เมื่อปลาขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายหมดแล้ว เราก็ช้อนปลากัดขึ้นมาใส่ในขวดใหม่ โดยส่วนใหญ่จะใช้ขวดขาวกลม (ขวดน้ำปลา) แทนขวดโหลเดิม ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการเดินทาง เพราะว่ามีขนาดเล็กกะทัดรัดกว่า"
"เมื่อเปลี่ยนขวดใหม่ เราก็เปลี่ยนถ่ายน้ำส่วนหนึ่งด้วย โดยคงสภาพน้ำเก่าไว้ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เติมน้ำใหม่ 50 เปอร์เซ็นต์"
ก่อนออกเดินทางเขาจะใช้กระดาษห่อหุ้มอย่างมิดชิด เพื่อให้ปลาพักผ่อนเต็มที่ระหว่างเดินทาง

รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะเกือบทุกครั้ง
เมื่อถึงสนามประลองหรือแข่งขัน จะมีนักเลงปลากัดเจ้าถิ่น คอยต้อนรับผู้มาเยือนอยู่แล้ว ซึ่งบางสนามมีปลาเป็นร้อยตัวทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสนามเล็กหรือสนามใหญ่
"ปัจจุบันนี้มีคนสนใจเรื่องปลากัดกันมาก และต่างคนพยายามเสาะหาปลากัดเก่ง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย ใครตาถึงหรือมีเส้นสายดีก็มีปลาเก่ง ๆ ไว้ประดับบารมี"
อย่างไรก็ตาม ในการประลองนั้น ชัยชนะมิใช่มาจากสายพันธุ์ปลาเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ อาทิ น้ำเลี้ยงหรือขั้นตอนการเลี้ยง (ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว) และวิธีการเปรียบเทียบคู่ต่อสู้ เป็นต้น
เขาบอกว่า ในการเปรียบเทียบปลากัด เพื่อแข่งขันกันนั้น ต้องดูลักษณะผิว หรือเกล็ดคู่ต่อสู้ หากเป็นผิวเรียบหรือเกล็ดมัน แสดงว่า ปลาสมบูรณ์ และแข็งแรงด้วย ตรงกันข้ามถ้าปลาตัวไหนผิวหรือเกล็ดไม่เรียบ และเวลาพองครีบและหางจะกางไม่เต็มที่ แสดงว่าปลาไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ เขาจะดูลักษณะปากและสี รวมทั้งท้องของปลาคู่ต่อสู้ด้วย หากปากใหญ่และสีดำเกินไป ก็แสดงว่า มีสายเลือดปลาหม้อสูง ไม่ควรกัด ควรให้ปากและสีคล้าย ๆ กัน แต่ถ้าพบว่า ท้องใหญ่ อ้วน ก็แสดงว่า ปลายังไม่สมบูรณ์ แม้ว่าปากจะใหญ่ ก็ไม่สามารถสู้ปลาที่เลี้ยงมาสมบูรณ์ได้
"เราจะใช้วิธีการสังเกตตามลักษณะดังกล่าว ถ้าดูแล้ว คู่ต่อสู้ไม่สมบูรณ์ แม้ว่าขนาดลำตัวจะโตกว่าก็ตาม เราก็ไม่กลัว สามารถแข่งขันประลองฝีมือกันได้เลย รับรองว่า โอกาสแพ้แทบไม่ค่อยมีให้เห็น" ดำ กล่าว

ข้อควรระวัง
ดำ บอกว่า เมื่อนำปลาเข้าสู่สนามประลองควรหากระดาษหรือถุงพลาสติกปิดปากขวดด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการวางยา
"วงการปลากัดก็เหมือนกับวงการไก่ชน และวัวชน มีการเล่นกันสกปรก คือพยายามเสาะหายาดีหรือสมุนไพร มาใช้ทำลายคู่ต่อสู้กัน เพื่อให้ปลาหรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นฝ่ายชนะ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้กันมาก ดังนั้น ทางที่ดีเราต้องรู้จักป้องกันไว้ก่อนดีกว่า ถ้าแพ้หรือชนะก็ให้อยู่ในเกมแข่งขัน ซึ่งผมมีความภาคภูมิใจมาก"
เมื่อผ่านขั้นตอนเทียบคู่ต่อสู้เสร็จแล้ว และถึงเวลาประลอง ดำ บอกว่า ควรมีความระวังเป็นเป็นพิเศษ ไม่ว่าน้ำ หรือภาชนะที่ใช้ ต้องมาจากส่วนกลาง ไม่เช่นนั้นมีสิทธิ์วางยาได้เหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้น้ำกลางกัน กล่าวคือ ซื้อน้ำขวดหรือโพลาริสมาใส่ในขวดโหลที่ทางเจ้าของสนามจัดไว้ให้ จากนั้นช้อนปลาทั้งคู่ลงในสวิง ล้างในน้ำสะอาด แล้วนำใส่ลงในขวดโหลที่เตรียมไว้ต่อสู้ดังกล่าว โดยไม่ให้น้ำเดิมหรือน้ำเก่าปะปนลงในขวดโหลเป็นอันขาด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันยาหรือสิ่งไม่พึงประสงค์
เขาบอกว่า ที่ผ่านมาเขาเคยมีประสบการณ์ปลาถูกวางยามาแล้ว 2-3 ครั้ง ซึ่งสังเกตได้จากมีลักษณะผิวหนังหรือเนื้อหลุดออกได้ง่าย นอกจากนี้ตาจะบอดทั้ง 2 ข้างด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ถูกกัดบริเวณตาเลย
"หากเราชอบด้านนี้ก็ต้องรู้จักระวัง ป้องกันไว้ดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบคู่ต่อสู้ได้" ดำ กล่าว

ที่มา:เทคโนโลยีชาวบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น